พ.ร.บ.ชื่อบุคคล
คนไทยทุกคนหากประสงค์จะเปลี่ยนชื่อ, เปลี่ยนนามสกุล ต้องปฏิบัติตามพ.ร.บ.ชื่อบุคคล ซึ่งมีอยู่ข้อหนึ่งที่บอกประมาณว่า ชื่อหรือนามสกุลต้องเขียนอย่างถูกต้องตามหลักภาษาตรงตามพจนานุกรม มิเช่นนั้นจะไม่ได้รับอนุญาตให้เปลี่ยน ก็จะเสียเวลาไป
สมัยนี้เห็นชื่อของคนบางคนก็ให้แปลกใจว่า ตั้งไปได้ยังไงและที่สงสัยยิ่งกว่าก็คืออำเภอไหนนะที่อนุญาต ยิ่งนับวันชื่อ นามสกุล ก็ยิ่งแปลกประหลาดและไม่สร้างสรร การตั้งชื่อไม่ใช่จะตั้งกันชุ่ย ๆ นะครับ หากตั้งไม่ได้มาตรฐานก็จะไม่ได้รับอนุญาตให้เปลี่ยนชื่อ เปลี่ยนนามสกุล นะครับ
_______________________________________________________
ที่ มท ๐๓๐๙.๓/ว๘๐๐๒ (ตราครุฑ) กรมการปกครอง
ถนนอัษฎางค์ กทม. ๑๐๒๐๐
๒๔ มิถุนายน ๒๕๕๗
เรื่อง แนวทางปฏิบัติการทะเบียนชื่อบุคคล
เรียน ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด และปลัดกรุงเทพมหานคร
ด้วยกรมการปกครองได้รับข้อหารือจากสำนักทะเบียนอำเภอและสำนักทะเบียนเขต เกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติการจดทะเบียนตั้งชื่อตัว ชื่อสกุล ตามพระราชบัญญัติชื่อบุคคล พ.ศ. ๒๕๐๕ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๐ , (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๔๘ และระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการทะเบียนชื่อบุคคล พ.ศ. ๒๕๕๑ โดยเฉพาะประเด็นการใช้ดุลพินิจในการพิจารณาว่า การตั้งชื่อตัว ชื่อสกุล เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฏหมายบัญญัติไว้หรือไม่ และการอุทธรณ์คำสั่งของนายทะเบียนท้องที่ การที่นายทะเบียนท้องที่ไม่อนุญาตให้เปลี่ยนชื่อตัว หรือสั่งไม่รับจดทะเบียนชื่อสกุล
กรมการปกครองพิจารณาแล้วเห็นว่า
๑. การรับจดทะเบียนชื่อสกุล เป็นเรื่องที่มีความสำคัญตามพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ที่ทรงพระราชทานให้กับคนไทยนั้น เพื่อจะได้มีชื่อสกุลเป็นหลักในการสืบสายโลหิต ส่งเสริมความรักความสามัคคีระหว่างเครือญาติ และเป็นหลักชัยของครอบครัวให้ลูกหลานทำความดี
๒. ปัจจุบันได้มีผู้มายื่นคำขอเปลี่ยนชื่อตัว ตั้งหรือเปลี่ยนชื่อรอง และขอจดทะเบียนตั้งชื่อสกุล โดยให้เหตุผลเพื่อความเป็นสิริมงคล ซึ่งเป็นความเชื่อทางด้านดวงชะตาหรือด้านโหราศาสตร์ ท้ังนี้ ในบางกรณีการขอเปลี่ยนชื่อตัว ตั้งหรือเปลี่ยนชื่อรอง และขอจดทะเบียนตั้งชื่อสกุลดังกล่าว ผู้ยื่นคำขอจะนำคำแต่ละคำมาประสมรวมกันเป็นคำที่ประดิษฐ์ขึ้น ซึ่งไม่ถูกต้องตามหลักภาษาไทย จึงไม่ปรากฏคำเหล่านั้นอยู่ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ทำให้ไม่สามารถยืนยันความหมายได้
๓. การอนุญาตให้เปลี่ยนชื่อตัว ตั้งหรือเปลี่ยนชื่อรอง และการรับจดทะเบียนตั้งชื่อสกุล ถือเป็นคำสั่งทางปกครอง ตามนัยมาตรา ๕ (๑) แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙
๔. พระราชบัญญัติชื่อบุคคล พ.ศ. ๒๕๐๕ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๐ , (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๔๘ มาตรา ๑๘ และระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการทะเบียนชื่อบุคคล พ.ศ. ๒๕๕๑ ข้อ ๒๓ และข้อ ๒๔ ได้กำหนดวิธีปฏิบัติกรณีนายทะเบียนท้องที่สั่งไม่รับจดทะเบียนชื่อสกุล เปลี่ยนชื่อตัว ตั้งหรือเปลี่ยนชื่อรอง หรือร่วมใช้ชื่อสกุล หรือเปลี่ยนชื่อสกุล ผู้ยื่นคำขอสามารถอุทธรณ์คำสั่งของนายทะเบียนท้องที่ได้ ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์ที่ประกันความเป็นธรรม หรือมีมาตรฐานในการปฏิบัติราชการตามนัยมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙
๕. กรณีมีผู้มายื่นคำขอเปลี่ยนชื่อตัว ตั้งหรือเปลี่ยนชื่อรอง และขอจดทะเบียนตั้งชื่อสกุล (คำขอแบบ ช.๑) ต่อนายทะเบียนท้องที่
๕.๑ นายทะเบียนท้องที่พิจารณาแล้วเห็นว่า ชื่อตัว ชื่อรอง และชื่อสกุล ที่ขอจดทะเบียนนั้นเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฏหมายบัญญัติไว้ นายทะเบียนท้องที่ก็สามารถใช้ดุลพินิจในการอนุญาตได้
๕.๒ หากนายทะเบียนท้องที่พิจารณาแล้วว่า ชื่อตัว ชื่อรอง และชื่อสกุลที่ขอจดทะเบียนนั้นไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฏหมายบัญญัติไว้ หรือนายทะเบียนท้องที่พิจารณาแล้วเห็นว่า ชื่อตัว ชื่อรอง และชื่อสกุล ดังกล่าวไม่สามารถยืนยันความหมายได้ หรือใช้ตัวสะกดการันต์ไม่ถูกต้องตามหลักภาษาไทย นายทะเบียนท้องที่ก็สามารถใช้ดุลพินิจสั่งไม่อนุญาตให้เปลี่ยนชื่อตัว ตั้งหรือเปลี่ยนชื่อรอง หรือตั้งชื่อสกุล โดยนายทะเบียนท้องที่แจ้งในคำขอแบบ ช.๑ ให้ผู้ยื่นคำขอ รับทราบเป็นลายลักษณ์อักษร และหากผู้ยื่นคำขอประสงค์จะอุทธรณ์คำสั่งของนายทะเบียนท้องที่ ให้ผู้ยื่นคำขออุทธรณ์เป็นหนังสือภายในสามสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่ง ต่อนายทะเบียนท้องที่และให้นายทะเบียนท้องที่พิจารณาดำเนินการตามความในพระราชบัญญัติชื่อบุคคล พ.ศ. ๒๕๐๕ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่๒) พ.ศ. ๒๕๓๐ , (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๔๘ มาตรา ๑๘ และระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการทะเบียนชื่อบุคคล พ.ศ. ๒๕๕๑ ข้อ ๒๓ และข้อ ๒๔ และแจ้งให้ผู้ยื่นคำขอทราบว่า หากผู้ยื่นคำขอไม่พอใจในคำวินิจฉัยอันเป็นที่สุดของผู้พิจารณาอุทธรณ์ สามารถใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครอง ตามความในพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๔๒
จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบและแจ้งให้นายทะเบียนท้องที่และนายทะเบียนท้องที่เขต ทราบและถือปฏิบัติต่อไป
ขอแสดงความนับถือ
(นายสถาพร ศิริภักดี)
รองอธิบดี ปฏิบัติราชการแทน
อธิบดีกรมการปกครอง
สำนักบริหารการทะเบียน
ส่วนการทะเบียนทั่วไป
โทร. ๐๒-๗๙๑ ๗๐๑๗-๙
โทรสาร ๐๒-๗๙๑ ๗๐๔๙